ตั้งโต๊ะ หรือต่งจัว เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งซึ่งคาดว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน (สะกดเป็นอักษรจีนตัวเต็ม 董卓 , จีนตัวย่อ 董卓 , พินอิน Dǒng Zhuō) ตามบันทึกที่มีนั้น ทำให้ทราบว่า ตั๋งโต๊ะ เป็นผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งซึ่งนำความหายนะมาสู่จีน
มีรูปร่างอ้วนใหญ่ ใจคอละโมบโลภมาก เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าหันหลังให้แก่ความดี เป็นบุตรชายของข้าหลวงเมืองหลงซี (隴西) แต่เกิดที่เมืองหลินเถา (臨洮) ตั๋งโต๊ะเกิดเมื่อ ค.ศ. 139 แต่ตั๋งโต๊ะ เริ่มมีบทบาท และเป็นที่รู้จักของชาวจีนในรัชสมัยของฮ่องเต้หองจูเปียน (弘農王) เพราะหลังจากจักรพรรดิเลนเต้ (漢靈帝) เสด็จสวรรคตลงในค.ศ. 189 เจ้าชายหองจูเปียนซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษาได้ขึ้นครองราชย์แทน นายพลโฮจิ๋น (何進) ได้ส่งสารไปยังหัวเมืองต่างๆให้มาช่วยตนปราบเหล่าขันทีในวัง เพราะเหล่าขันทีนั้นพยายามจะล้มหองจูเปียน และตั้งหองจูเหียบ พระอนุชาต่างมารดาของฮ่องเต้หองจูเปียนขึ้นเป็นกษัตริย์ จึงต้องการล้มล้างขันทีเสียก่อน เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม
เมื่อตั๋งโต๊ะมาถึงราชธานีลกเอี๋ยง (洛陽) ก็พบว่าความวุ่นวายนั้นถูกสะสางไปแล้ว และองค์หองจูเปียนและหองจูเหียบปลอดภัย ก็ฉวยโอกาสทำเหมือนเป็นฝีมือของตนที่ทำให้องค์ฮ่องเต้ปลอดภัย ราชินีจึงให้เข้ามาทำงานในเมืองหลวง ในปีนั้น ตั๋งโต๊ะตัดสินใจทำการใหญ่เพื่อเสริมบารมีให้ตนเอง โดยการชักชวนลิโป้ (呂布) นักรบผู้เก่งกาจมาร่วมงาน และทำการเปลี่ยนตัวฮ่องเต้ โดยใช้วิธีขอความเห็นของเหล่าขุนนางในสภาโดยใช้คำพูดอ่อนหวาน แต่กริยาแกมขู่บังคับ และนำลิโป้มายืนหน้าเขม็งอยู่ใกล้ๆ เพื่อเป็นการขู่ทางอ้อม สภาจึงต้องจำยอม ในปี ค.ศ. 189ตั๋ง โต๊ะจึงอัญเชิญ (ปลด) ฮ่องเต้หองจูเปียนและราชินีโฮ มารดาของเปียนลงจากบัลลังก์ และแต่งตั้งหองจูเหียบ ขึ้นเป็น "พระเจ้าเหี้ยนเต้ (漢獻帝)" ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ส่วนฮ่องเต้หองจูเปียนและราชินีโฮ พระมารดานั้น ตั๋งโต๊ะได้สั่งให้คุมขังในตำหนักร้าง (และได้ส่งคนไปสังหารทั้งคู่ใน ค.ศ. 190)
และใน ค.ศ. 189 ตั๋งโต๊ะพบศึกหนักกับทัพของกวนอู ทางด้านลิยู ที่ปรึกษาของตั๋งโต๊ะ บอกว่า ถ้าตอนนี้เรามีเตียงฮัน (長安) เป็นราชธานี เราจะสามารถตั้งรับศึกกับกวนอูได้ดีกว่านี้ ตั๋งโต๊ะจึงสั่งให้ทหารของตนไปฆ่าเศรษฐีในเมือง และริบทรัพย์สินมาทั้งหมด และเผาลกเอี๋ยงให้ราบ และสร้างเตียงฮันเป็นราชธานีใหม่โดยนำเงินที่ปล้นเศรษฐีมาเป็นทุน ตั๋งโต๊ะได้สร้างความวิบัติให้จีนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง วันหนึ่ง ตั๋งโต๊ะได้มีเรื่องบาดหมางกับลิโป้ ต่อมา ก็คืนดีกัน แต่ไม่นานก็บาดหมางกันในเรื่องเดิมถึงขนาดอาฆาตเคียดแค้นกัน
ด้วยเวรกรรมที่ทำไว้ ตั๋งโต๊ะจึงหลงกลวังหลวงจนถูกลิโป้ฆ่าตายในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 192 หลังจากตายไปแล้ว ศพของตั๋งโต๊ะถูกตั้งทิ้งไว้กลางทางแยกให้แร้งกามา จิกกิน ผู้คนต่างพากันสาปแช่ง เตะต่อยและถ่มน้ำลายใส่ ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ลิฉุยและกุยกี ลูกน้องคนสนิทของตั๋งโต๊ะสามารถยึดอำนาจคืนได้ ได้นำศพของตั๋งโต๊ะไปประกอบพิธีกรรมอย่างถูกต้องทางศาสนา ทว่าเมื่อจะบรรจุกระดูกเข้าหลุม ฟ้าได้ผ่าลงมาทำให้เถ้ากระดูกกระจัดกระจายไปไม่สามารถตามหาครบได้ นับว่าเป็นบุคคลที่ถูกสาปแช่งทั้งยังมีชีวิต และไร้ชีวิตไปแล้วอย่างแท้จริง ซึ่งยาขอบ นักประพันธ์ชาวไทยได้ให้ฉายาตั๋งโต๊ะว่าเป็น "ผู้ถูกสาปแช่งทั้ง 10 ทิศ"
ทางด้านครอบครัว ไม่มีบันทึกกล่าวไว้ชัดเจน แต่ตามวรรณคดีสามก๊ก คาดว่าตั๋งโต๊ะ ได้แต่งงานกับเตียวเสี้ยน(貂 蟬) สาวงามผู้มีอายุน้อยกว่าตนถึง 30 ปี แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่ยืนยันได้ นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นที่เกี่ยวกับนางเตียวเสี้ยน เช่น เตียวเสี้ยนเป็นหญิงรับใช้ของตั๋งโต๊ะ แต่เป็นภรรยาของลิโป้ และอีกหลากหลายข้อสันนิษฐาน
ความคิดเห็น